วัดในกรุงเทพ

3 ตำนานเกี่ยวกับวัดในกรุงเทพ

หากว่ากันด้วยเรื่องของวัดวาอารามแล้วนั้น…แต่ละวัดก็คงจะมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไปตามกาลเวลา วันนี้เราจึงอยากพาทุกๆ ท่านไปรู้จักกับ “3 ตำนานเกี่ยวกับวัดในกรุงเทพ”  ที่เราจะหามาฝากและเค้าไปรู้จักกับประวัติความเป็นมาของวัดเหล่านั้นกันครับ จะเป็นอย่างไรบ้าง เราไปชมกันดีกว่าครับ

ประวัตวัด พระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระแก้ว นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวัง ตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ สมัยอยุธยา วัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ทางทิศตะวันออก มีพระระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์ จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต่อมารัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้ ภายหลังจากการสถาปนาแล้ว ก็ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชกาล เพราะเป็นวัดสำคัญ จึงมีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ทุก ๕๐ ปี คือในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ผ่านมา การบูรณปฏิสังขรณ์ที่ผ่านมา มุ่งอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมอันเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติ ให้คงความงามและรักษาคุณค่าของช่างศิลปไทยไว้อย่างดีที่สุด เพื่อให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามนี้อยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดไป

ประวัติ วัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า ” วัดมะกอก ” แล้วเปลี่ยนมาเป็น  “ วัดแจ้ง ”   ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 2   พระบาทสมเด็จพระพุทธ-เลิศหล้านภาลัย ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วพระราชทานชื่อใหม่ว่า “ วัดอรุณราชธาราม ”  ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ  ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก   แล้วเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “ วัดอรุณราชวราราม ” มีชื่อเต็มว่า “ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ” 

             ความสำคัญของวัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร  อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง เดิม   และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  (พระแก้วมรกต)   ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี  พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์   ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ

ประวัติวัด วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)

เดิมชื่อ วัดสะแก เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา จัดเป็นวัดอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นวัดสวยแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความวิจิตรงดงาม มีพระเจดีย์ สีทองสูงเด่นเป็นสง่าเหลืองอร่ามอยู่ท่ามใจกลางกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม ทรงพระราชทานนามใหม่วา “วัดสระเกศ” แปลว่า ชำระพระเกศา สืบเนื่องเมื่อทำพิธีพระกระยาสนาน (อาบน้ำ) ครั้งเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรีและเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2325 อดีตกล่าวกันว่าช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดหนักในกรุงเทพมหานคร ทรงโปรดให้จัดพิธีขับไล่โรคขึ้น เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องจากยังไม่มียารักษาและวิธีป้องกัน ชาวบ้านล้มตายหลายหมื่นคน มีแร้งจำนวนมากลงมากัดทึ้งกิน จนให้มีคำพูดติดปากกันว่า “แร้งวัดสระเกศ”

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ “3 ตำนานเกี่ยวกับวัดในกรุงเทพ” ที่ได้รวบรวมมาฝากกันในบทความข้างนี้ หวังว่าจะชอบและเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ท่านกันนะครับ